ผู้ว่าฯ แพร่ ลุยฝนเยี่ยมชมหมู่บ้านท่องเที่ยว ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สู่ระดับสากล ด้วยอัตลักษณ์ วัฒนธรรมชุมชน ในจังหวัดแพร่
นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นำคณะส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ โดยนายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ อำเภอเมืองแพร่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุ๊บลอน บ้านนาแหลม หารือแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนแบบบูรณาการ ชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ สัมผัสบรรยากาศต้นแบบล้านนาเมืองแป้ ณ ฮ่มไม้บ้านดิน บ้านนาแหลม ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุ๊บลอนนำโดย น.ส.กฤษฏนันต์ ทองวิภาวรรณ์ (อดีตมัคคุเทศก์บริษัทท่องเที่ยวต่างประเทศ) ได้รวมกลุ่มชุมชนในพื้นที่ พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยประสานดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ซึ่งเริ่มต้นที่ชุมชนตนเอง ชูวัฒนธรรมงานหัตถกรรมกุ๊บลอน (การทำหมวกสานไม้ไผ่เย็บด้วยใบลาน) การนอนบ้านดิน จากการทำดินกี่ (การเผาดินทำอิฐมอญ) กลุ่มอาชีพสำคัญของบ้านนาแหลมที่ทำกันมาแต่ในอดีต รวมทั้งยังบูรณาการท่องเที่ยวชุมชนกับพื้นที่ใกล้เคียงเช่นการผลิตผ้าหม้อห้อมและมัดย้อม บ้านทุ่งโฮ้ง
อีกทั้งยังได้เคยกิจกรรม “ปั่นปั้นสาน เชื่อมโยงแหล่งวัฒนธรรมในชุมชน” พร้อมระดมคนในชุมชนร่วมประกอบการ อาหาร ตกแต่งสถานที่ให้บริการ สร้างการเล่าเรื่อง ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประทับใจ
ทั้งนี้ทางจังหวัดแพร่ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ภายหลังการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่และการเดินทางเข้าประเทศไทยช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 และพร้อมนำเสนออัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวจังหวัดแพร่อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วย
"กุ๊บลอน" นั้นคือหมวกสานล้านนา ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวนาในภาคเหนือใช้แพร่หลายในหลายจังหวัด ทั้งจังหวัดน่าน, พะเยา, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่ กุ๊บลอน เป็นหมวกสานไผ่เย็บใบลาน เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นศาสตร์ศิลป์แห่งมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนบ้านนาแหลม จ.แพร่ มาหลายชั่วอายุคน
"กุ๊บลอน" นับเวลาถอยหลังเข้าสู่การถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา นส.กฤษฏนันต์ ทองวิภาวรรณ์ (ป้าอ้อย) มองเห็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกับกุ๊บลอน จึงเริ่มโครงการชุบชีวิตฟื้นฟูสืบสานกุ๊บลอนขึ้นในปี 2559 ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนฟื้นฟูสืบสานภูมิปัญญากุ๊บลอนขึ้นอีกครั้ง ณ ฮ่มไม้บ้านดินหมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น