วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รมว.ดีอีเอส แถลงเปิดโครงการ “สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565” เตรียมส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลสถานประกอบการทั่วไทย พ.ค. - ส.ค. นี้

รมว.ดีอีเอส แถลงเปิดโครงการ “สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565” 

เตรียมส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลสถานประกอบการทั่วไทย พ.ค. - ส.ค. นี้

           นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 (งานแจงนับ)” โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะผู้บริหารจากกระทรวง ดีอีเอสและสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถิติจังหวัด พร้อมตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วมงานณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ 

           สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วประเทศร่วมใจให้ข้อมูล เพื่อนำมาใช้วางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุควิกฤติโควิด-19 โดยเจ้าหน้าที่ “คุณมาดี” จาก สสช. พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูล ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2565 นี้

           นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผมตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลจากโครงการดังกล่าวที่จะนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ในระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น ล้วนให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เพื่อชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นข้อมูลที่สำคัญ สำหรับใช้ในการวางแผน กำหนดนโยบายการส่งเสริมการค้า การลงทุน ตลอดจนจัดทำตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)  หรือใช้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบสถานการณ์ในภาคการค้า การบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก”

                 สำหรับประเทศไทยมีสถานประกอบการในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 2.6 ล้านแห่ง ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่สำนักงานสถิติ แห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการจัดทำโครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมในครั้งนี้  ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย สืบเนื่องมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 จะได้มีข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ  ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ หรือออกมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างตรงจุด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ MSME ส่วนภาคเอกชนและประชาชนได้นำไปใช้ประกอบในการตัดสินใจลงทุน ต่อยอดธุรกิจ ขยายกิจการ หรือออกผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ รวมไปถึงการวางแผนกลยุทธ์ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันได้

        ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเสริม กล่าวว่า “สำหรับการจัดทำสำมะโนด้านเศรษฐกิจจะจัดทำขึ้นในรอบห้าปีถึงสิบปีตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ โดยในปี 2565เป็นการครบรอบสิบปี ของการจัดทำสำมะโนธุรกิจ ทางการค้า และธุรกิจ ทางการบริการ และครบรอบห้าปีของการจัดทำสำมะโนอุตสาหกรรม ดังนั้น การสำมะโนฯ ในครั้งนี้เป็นการบูรณาการทั้งสองโครงการที่ได้กล่าว ภายใต้ชื่อ ‘สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565’ หรือ โครงการ สธอ. 65”

           ข้อมูลจากโครงการฯ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สำหรับภาครัฐนำมาใช้ในการวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายการพัฒนา เศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ ใช้ประกอบการจัดทำตัวชี้วัดระดับเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถของสถานประกอบการ MSME  ส่วนภาคเอกชน สามารถใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อตัดสินใจในการลงทุนหรือขยายกิจการ ตลอดจนเปรียบเทียบสถานะสถานประกอบการตนกับระดับประเทศและพื้นที่ได้ และสำหรับประชาชน สามารถใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาช่องทางในการลงทุนทำธุรกิจ และศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้สนับสนุนการจัดทำนโยบาย

            การจัดทำโครงการ สธอ. 65 มีแผนการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 โดยในปี 2564 เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของสถานประกอบการทุกประเภททั้งที่อยู่ในระบบทะเบียน และนอกระบบ ทะเบียน ทั่วประเทศ หรือที่เรียกว่า “งานนับจด” เพื่อให้เห็นโครงสร้างและการกระจายตัวของสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ สำหรับในปี 2565 นี้ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดของสถานประกอบการ หรือที่เรียกว่า “งานแจงนับ” เช่น คนทำงานและค่าตอบแทนแรงงาน ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่าย ผลผลิต/รายรับ การใช้เทคโนโลยี การได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ เป็นต้น และสำหรับปี 2566 จะเป็นการประมวลผล วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลต่อไป  

        “ในการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ปี 2565  ได้มีการบูรณาการข้อมูลทะเบียนของหน่วยงานรัฐสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงาน สถิติ แห่งชาติขอขอบคุณหน่วยงานทั้งสามหน่วยงานเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและสถานประกอบการ ซึ่งความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลในครั้งนี้ จะเป็นพื้นฐาน ในการต่อยอด สำหรับ การวิเคราะห์ ข้อมูล ขนาดใหญ่ต่อไป สำนักงานสถิติแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่ หรือ ‘คุณมาดี’ ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโดยตรง และในการสำมะโน ครั้งนี้ มีระบบออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการให้ข้อมูลด้วยตนเองอีกช่องทางหนึ่ง และขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจว่าข้อมูลจะเป็นความลับ ไม่รั่วไหล และไม่นำไปเปิดเผยเป็นรายกิจการ” ดร.ปิยนุช กล่าว พร้อมเสริมว่า เนื่องจากเป็นการดำเนินงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีมาตรการในการดำเนินงานที่เน้นการรักษาความปลอดภัยตามมาตรการของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข อย่าง เคร่งครัด

             “ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้ส่วนหนึ่งจะชี้ให้เห็นถึงทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ในการดำเนินกิจการของสถานประกอบการในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนิน กิจการสำหรับการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ด้วย เทคโนโลยี ดิจิทัลอย่างยั่งยืน เช่น การมีแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสนับสนุนให้สถานประกอบการขายสินค้าออนไลน์ หรือ e-commerce  กลุ่มธุรกิจ Start up ตลอดจนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน กลุ่มแม่บ้าน และวิสาหกิจชุมชนมีความรู้นำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ต่อไป” นายชัยวุฒิ กล่าวพร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วประเทศร่วมให้ข้อมูลกับคุณมาดี เพื่อร่วมขับ เคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน

             โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 (งานแจงนับ) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0 2142 1234 หรือชมรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th 



                                                                                                                                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ททท. เปิดแคมเปญ “WOW! Thailand Passport Privileges” มอบส่วนลด สิทธิพิเศษ พร้อมของที่ระลึกเสน่ห์ไทย Must Do Souvenirs

ททท. เปิดแคมเปญ “WOW! Thailand Passport Privileges”  มอบส่วนลด สิทธิพิเศษ พร้อมของที่ระลึกเสน่ห์ไทย Must Do Souvenirs  ต้อนรับนักเดินทางด้วย...