วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

โครงการไหว้พระธาตุเมืองเหนือเสริมสิริมงคล ชมโบราณสถาน เรียนรู้ตำนานชามตราไก่ ร่วมสืบชะตาแบบล้านนา

โครงการไหว้พระธาตุเมืองเหนือเสริมสิริมงคล

ชมโบราณสถาน  เรียนรู้ตำนานชามตราไก่ 

ร่วมสืบชะตาแบบล้านนา

ภาพ / เรื่อง... .อนุรักษ์ มงคลชัยประทีป / พรพรรณ ท้าวกาหลง

การไหว้พระธาตุปีเกิดของคนภาคเหนือ เป็นความเชื่อของคนไทย ที่เชื่อกันว่า แต่ละคนที่เกิดมาย่อมมีพระธาตุประจำปีเกิด เช่น คนเกิดปีชวด (หนู) ได้แก่ พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ ปีฉลู (วัว) ได้แก่ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง ปีขาล (เสือ) ได้แก่ พระธาตุช่อแฮ่ จ.แพร่ ปีเถาะ (กระต่าย) ได้แก่ พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน ปีมะโรง(งูใหญ่)ได้แก่ พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ปีมะเส็ง (งูเล็ก) ได้แก่ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา อินเดีย (ซึ่งมีจำลองมาอยู่ที่วัดโพธารามมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่) ปีมะเมีย (ม้า) ได้แก่  พระบรมธาตุ จ.ตาก ปีมะแม (แพะ) ได้แก่ พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ปีวอก (ลิง) ได้แก่ พระธาตุพนม จ.นครพนม  ปีระกา (ไก่) ได้แก่ พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ปีจอ (หมา) ได้แก่ พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี อยู่บนสรวงสวรรค์ (จำลองมาไว้ที่วัดเกตุการาม จ.เชียงใหม่) และปีกุน (หมูหรือช้าง) ได้แก่พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย ในแต่ละปี จึงขอให้มีสักครั้ง ได้ไปกราบสักการะพระธาตุประจำปีเกิด เพื่อความเป็นสิริมงคล


      

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ ร่วมกับ ททท. สำนักงานภาคเหนือทุกจังหวัด ได้แก่ ททท.สำนักงานลำปาง นำโดยนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการฯ ททท.สำนักงานนครสวรรค์ นำโดยนายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการฯ นำนักท่องเที่ยวเที่ยวจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน ในโครงการไหว้พระธาตุเมืองเหนือเสริมสิริมงคล โดยมีนายกฤษณะ แก้วธำรงค์ (รองผู้ว่าการ ททท.ด้านตลาดในประเทศ) คุณสรัสวดี อาสาสรรพกิจ (ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ) ร่วมพิธีสืบชะตาหลวง พร้อมกับ คณะนักท่องเที่ยวจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 400 คน ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง และถือเป็นารเปิดโครงการ “ไหว้พระธาตุเมืองเหนือเสริมสิริมงคล”   พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีฉลู  ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ  มีกำแพงล้อมรอบ  เมื่อเดินขึ้นบันใดนาค ผ่านซุ้มประตูโขงไปเป็นวิหารหลวงที่ภายในบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง ที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังก็เป็นองค์พระธาตุลำปางหลวง  เจดีย์ทรงกลมแบบล้านนาก่ออิฐถือปูน  ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุน ฐานเป็นบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยมย่อมุม ภายในบรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง  บริเวณรั้วรอบองค์พระธาตุยังมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศ  เมื่อเดินไปทางซ้ายก็จะเป็นวิหารน้ำแต้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ภายในเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ปัจจุบันภาพลบเลือนไปมาก  และยังมีวิหารพระพุทธที่สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยลักษณะงดงามมาก ส่วนวิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลา เป็นพระพุทธรูปพระนาคปรกเก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้สมัยนั้น  รวมทั้งรอยพระพุทธบาทไม้ศิลปะล้านนา เป็นรอยพระพุทธบาท 4 รอย สลักรอบพระบาทเว้าเข้าไปในพื้นไม้ ร่องรอยบนพื้นรักเป็นลวดลายต่าง ๆ และที่สำคัญคือเงาพระธาตุและพระวิหารหัวกลับ ที่เกิดจากการหักเหของแสงในซุ้มพระบาทที่ สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ถือว่าเป็น UNSEEN เมืองไทย แต่ซุ้มพระบาทนี้ห้ามผู้หญิงขึ้น

ชมความมหัศจรรย์ของพระธาตุหัวกลับแล้ว ก็เดินทางไปวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่อายุนับ 1,000 ปี ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เมื่อเดินเข้าไปในวัดจะเห็นพญาธาตุ มณฑปศิลปะแบบพม่า ประดับด้วยกระจกมีลวดลายสีสันงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปบัวเข็ม ซึ่งจำลองมาจากพม่า  ถัดไปเป็นองค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ตามด้วยวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กับวัด  นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย,  วิหารพระเจ้าทองทิพย์ ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ ศิลปะสมัยเชียงแสน  และวิหารลายคำสุชาดาราม ที่มีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแส




เปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง ไปชมกรรมวิธีผลิตชามตราไก่ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี เรียนรู้ประวัติชามตราไก่ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยชาวจีนแคะและชาวจีนแต้จิ๋ว  มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงชามขาวธรรมดา ไม่มีลาย เมื่อผลิตเสร็จได้ส่งมาเขียนลายสีเผาเคลือบที่ ต.ปังโคย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าชาวจีนที่อยู่ตลาดเก่า ถ.ทรงวาด จึงสั่งนำเข้าชามไก่มา ต่อมาชาวจีนที่เคยทำชามไก่ได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนในไทย  ได้ก่อสร้างโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ขึ้น ซึ่งชามไก่ช่วงนั้นมีไม่มากนัก เนื่องจากขาดดินคุณภาพดี  จนถึงปี พ.ศ.2498 อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ได้ค้นพบแร่ดินขาวครั้งแรกที่บ้านปางคำ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จึงได้ก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของลำปางเมื่อ พ.ศ.2508 เพื่อผลิตชามตราไก่ ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ จนถึงการเผาด้วยเตามังกร (เตาฟืนโบราณ) ปัจจุบันเตามังกรโบราณนี้ได้อนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เซรามิค เมื่อเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นวิธีทำชามตราไก่ทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่นำดินมาขึ้นรูป การวาดลายบาชาม จนถึงการเคลือบผิวชามแล้วนำไปเผา ที่นี่ยังมีชามไก่จิ๋วขนาดเล็กที่สุดในโลก คือเล็กกว่าเมล็ดข้าวเปลือกมาตั้งโชว์ด้วย ต้องมองผ่านแว่นขยายจึงจะเห็นลวดลายอันสวยงามบนชาม และที่สำคัญคือเราได้เห็นเตาเผามังกรโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งยังคงสภาพเดิมอยู่


หลังเรียนรู้วิธีทำชามตราไก่แล้ว พวกเราก็เดินทางไปยังสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งตอนแรกนั้นเป็นสะพานไม้สร้างในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต  เจ้าของนครลำปางองค์สุดท้าย  ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  5  นับเป็นสะพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเลยทีเดียว คือยาวถึง  120  เมตร เพื่อเชื่อมการปกรองแขวงหัวเวียง (สวนดอก) กับแขวงเวียงเหนือเข้าด้วยกัน  อีกทั้งเข้าใจว่าชื่อ รัษฎาภิเศก” นี้มีที่มาจากการสร้างสะพานเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้พระราชทานนาม  รัษฎาภิเศก  ให้กับสะพานแห่งนี้  ต่อมาสะพานพังลง จึงได้มีการสร้างสะพานขึ้นใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปทรงโค้งคันธนูรวม  4  โค้ง  ทั้งยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความ ได้แก่ พวงมาลายอดเสารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครุฑหลวงสีแดงบ่งบอกถึงตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินสยามสมัยรัชกาลที่ 6 ไก่หลวงหรือไก่ขาวคือสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง  สื่อถึงสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต และคำว่า  มีนาคม 2460”  บอกถึงวันที่ สะพานนี้เป็นสะพานรอดพ้นการทิ้งระเบิดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  มาได้  บริเวณนี้ยังมีถนนสายวัฒนธรรมลำปาง ให้เดินเล่นถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีภาพเขียนกราฟิตี้ ลำปางสตรีทอาร์ต (โครงการริเวอร์ สตรีทอาร์ต) ตามแคมเปญ ลำปาง ปลายทางฝัน” ที่มีศิลปินกว่า 20 ชีวิต มาช่วยกันร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแนวกำแพงบ้านเรือน เริ่มจากทางลงสะพานรัษฎาฯ และกาดกองต้า ถนนคนเดินเก่าแก่ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของเมืองลำปาง ซึ่งภาพสตรีทอาร์ตแฝงไปด้วยเรื่องราวความน่ารัก รวมถึงภาพที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นจังหวัดลำปางได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพของก๋วยเตี๋ยวซึ่งใส่อยู่ในชามตราไก่ รถม้าลำปาง และภาพเด็กถือลูกโป่ง





                สนุกสนานถ่ายภาพกับภาพเขียนแล้ว ก็เดินทางไปชมความงามของวัดปงสนุก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอนันตยศ ซึ่งเป็นราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย ( จ.ลำพูนในปัจจุบัน ) เมื่อครั้งเสด็จมาสร้างเขลางค์นคร ( จ.ลำปางในปัจจุบัน) ที่มาของชื่อวัดนี้มีบางตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2364 เมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน ชาวเมืองได้ถูกต้อนมายังฝั่งเวียงเหนือของนครลำปาง โดยหนึ่งในกลุ่มชนนั้นก็มีชาวปงสนุกรวมอยู่ด้วย และขณะเดียวกันชาวเมืองพะเยาก็ได้อพยพมายังฝั่งเวียงเหนือเพื่ออาศัยอยู่เช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบ ชาวพะเยาก็ย้ายกลับบ้านเกิดของตน เหลือไว้แต่เพียงชาวปงสนุกที่ยังคงอยู่ ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านตามเผ่าพันธุ์ของตนเอง และคำว่า “ปงสนุก” นั้นก็หมายถึงพงศ์เผ่าแห่งความรื่นเริง   แต่เดิมวัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีพระภิกษุและสามเณรบวชเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วนคือ วัดปงสนุกเหนือกับวัดปงสนุกใต้ เพื่อให้ช่วยกันดูแลได้อย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วัดปงสนุกมีความพิเศษตรงที่เราจะได้เห็นเหมือนว่ามีวัด 2 วัดตั้งอยู่ในเขตใบพัทธสีมาเดียวกัน ซึ่งพื้นที่ภายในวัดได้มีการถมดินไว้ระหว่างพื้นที่ของวัดทั้งสองเรียกว่า ม่อนดอย  เปรียบได้กับการจำลองเขาพระสุเมรุขึ้นมา โดยที่พื้นที่ด้านบนนี้จะมีพระเจดีย์ศรีจอมไคล วิหารพระนอน และวิหารพระเจ้าพันองค์ลักษณะเป็นทรงโถงจตุรมุข อันเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในประเทศไทยตั้งอยู่ข้างบนนั้น ซึ่งวิหารพระเจ้าพันองค์หลังนี้ได้รับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดีเด่นจากยูเนสโก้เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา ( Award of Merit Wat Pongsanuk; Asia-Pacific Heritage Awards for Culture Herritage Conservation from UNESCO Year 2008 ) โดยวิหารพระเจ้าพันองค์หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ สร้างด้วยไม้ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศ ตัวอาคารแสดงถึงการรวบรวมทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม โครงสร้างของวิหารมีลักษณะเป็นมณฑปเปิดโล่งตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์ พระพักตร์แต่ละองค์ก็หันออกไปยังทิศทั้งสี่ ในส่วนของหลังคามีลักษณะซ้อนกันสามชั้นซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมที่ค้ำตัววิหารก็มีลวดลายอันน่าวิจิตรปรากฏให้เห็นอยู่แทบทุกต้น และบริเวณด้านบนรอบในของตัววิหารนั้นได้รับการประดับด้วยพระพิมพ์องค์เล็กจำนวนมากถึง 1,080 องค์ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ วิหารพันองค์ ที่ใช้เรียกกันอย่างติดปาก ด้วยความเป็นวัดเก่าที่มากด้วยความสวยงาม แล้วก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น ห้องเก็บ หีบธรรม เก่า ซึ่งเป็นตู้เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “หีดธรรม” ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าเพื่อไม่ต้องการให้พ้องกับคำว่าไม้หีบที่ใช้หนีบปลาหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ กระทั่งได้คำเรียกอย่างที่ได้กล่าวไปนั่น







วันรุ่งขึ้นพวกเราก็อำลา จ.ลำปาง เดินทางสู่ จ.ลำพูน เดินทางไปสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี  ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ผู้เป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริกุญชัย ก่อนเดินทางไปวัดพระบรมธาตุหริกุญชัยวรมหาวิหาร  เพื่อสักการะพระธาตุหริกุญชัย พระธาตุประจำปีระกา  เราจะต้องเดินผ่านสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเด่นเป็นสง่า  เข้าซุ้มประตูวัดเราก็จะเห็นวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริกุญชัย ประทับนั่งอยู่เหนือบุษบกที่แกะสลักลงรักปิดทองอย่างสวยงาม  ถัดไปก็พบองค์พระบรมธาตุหริกุญชัย  เป็นเจดีย์เก่าแก่ทรงลังกาที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตร    และเมื่อเดินมาทางขวาก็จะเป็นสุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) เจดีย์ทรงปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืน ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่องค์ ภายในบรรจุพระเปิม พระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของลำพูน  นอกจากนี้ยังมีหอไตร สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกครบทั้ง  85,000  พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้น 420 พระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ใบลานทั้งหมดวิหารพระละโว้ ที่ภายในประดิษฐานพระละโว้,  วิหารพระพุทธ ที่ประดิษฐานพระพุทธ พระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย,  วิหารพระทันใจ ประดิษฐานพระทันใจ  และวิหารพระบาทสี่รอย ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มีถึง รอยซ้อนกัน






                                ปิดท้ายทริปนี้ที่วัดจามเทวี  เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ภายในวัดเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สุวรรณ ที่บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี  เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบหริกุญชัย  มีพระพุทธรูปปางประทานพรประทับยืนเป็นชั้น ๆ   รวม  60  องค์  แต่เดิมยอดเจดีย์ห่อหุ้มด้วยทองคำ  ต่อมายอดพระเจดีย์หักหายไป  และยังมีรัตนเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของพระวิหาร เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ที่แต่ละเหลี่ยมประดิษฐานพระพุทธรูปยืนก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ไว้ในซุ้มจระนำ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัย ที่รวบรวมเครื่องอัฐบริขาร รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งของครูบาศรีวิชัยด้วย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประกอบพิธีจุดเทียนเปิดงานฉลองบรรลุธรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประจำปี 2567       มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประ...