ทีเส็บจัดงาน MICE Day 2022 เปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยตลาดต่างประเทศ พร้อมประกาศปีแห่งการจัดประชุม
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ แถลงข่าวให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญและภาพรวมของงาน MICE DAY 2022 : ไมซ์ไทย ก้าวสู่วันอันยิ่งใหญ่ และโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ ชูงาน MICE Day 2022 สร้างการรับรู้บทบาทอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการผลักดันไมซ์สู่วาระแห่งชาติ พร้อมเปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับสื่อสารตลาดต่างประเทศ “THAILAND MICE: Meet the Magic” และประกาศปีแห่งการจัดประชุม “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” เดินหน้าชูมิติใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ตอบสนองความต้องการของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล-นิวนอร์มัล ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 26 เมษายนของทุกปี เป็นวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ (MICE Day) เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ทีเส็บจึงได้จัดงาน MICE Day 2022: ไมซ์ไทย ก้าวสู่วันอันยิ่งใหญ่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวปาฐกถาแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ และมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติ (Convention Ambassador) ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา Hororany Convention Ambassador-Medical และ รองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) Convention Ambassador-Robotics ซึ่งปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้กับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยใช้ไมซ์เป็นเวทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
การจัดงานครั้งนี้นอกจากจะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ยังมุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลักดันไมซ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ เปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศในมิติใหม่ภายใต้แนวคิด “THAILAND MICE: Meet the Magic” พร้อมประกาศปีแห่งการจัดประชุม “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศประจำปี 2565 ตามแนวทางของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติผ่านเรื่องสื่อสารสำคัญด้านต่างประเทศ ภายใต้แนวคิดหลัก New Chapter of Thailand ก้าวใหม่ไทยในช่วงหลังโควิด มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยและชาวต่างประเทศต่อการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพ APEC ในปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยและอุตสาหกรรมไมซ์“ THAILAND MICE: Meet the Magic” คือ แบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับสื่อสารตลาดต่างประเทศ ที่แสดงถึงบทบาทของประเทศไทยในการเป็นพันธมิตรผู้ร่วมสร้างความประทับใจให้กับการจัดงานไมซ์ อันนำไปสู่บทใหม่ของไมซ์ไทยที่มีมนต์ขลังไม่รู้จบ ที่สามารถตอบสนองกับโลกปัจจุบันในยุคดิจิทัล-นิวนอร์มัล เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวต่อไปอีกครั้ง โดยมุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ APEC 2022 & Hub Thailand ศูนย์กลางของนานาประเทศ Tech and Innovation นวัตกรรมไทย ไฮ - เทคโนโลยี Health Care สาธารณสุขไทยในระดับโลก และ Thai Culture Universal Soft Power วัฒนธรรมไทยก้าวไกลสู่สากล โดยจะนำเสนอผ่านแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เน้นศักยภาพประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ระดับโลก ที่มีเอกลักษณ์ทั้งด้าน Soft Power หรือศักยภาพทางวัฒนธรรม เช่น อาหาร วัฒนธรรม การบริการ ศิลปะ สินค้าไทย ฯลฯ และ Hard Power หรือศักยภาพของความเจริญด้านเศรษฐกิจ เช่น ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี มาตรการสุขอนามัย สถานที่จัดงาน ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยนั้นอุดมไปด้วยองค์ประกอบที่แตกต่าง แต่สามารถผสานอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ขับเคลื่อนประเทศไทยให้โดดเด่นในสายตานานาชาติ
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า “ทีเส็บ ยังเดินหน้าเชิงรุกประกาศไมซ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านแคมเปญ “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” ประกาศปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการในประเทศไทย สอดรับการจัดงานใหญ่ APEC 2022 ปลายปีนี้ เพื่อเป็นกลไกดึงงาน สร้างเงิน กระตุ้นนักเดินทางจากทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่พื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เจาะตลาดคุณภาพ โดยเน้นงานที่ตอบโจทย์ BCG Economy Model ของรัฐบาล ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ
กลยุทธ์ที่ 1 : สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐดึงงานจากต่างประเทศ และร่วมมือกับเอกชนดึงงานประชุมรูปแบบ Annual Global Conference งานประจำปีของแต่ละบริษัทให้เข้ามาจัดในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 2 : สร้างเงินหมุนเวียนกระจายรายได้ทั่วภูมิภาค เสนอเพิ่มการจัดงานไมซ์ในระดับภูมิภาค และกําหนดให้เป็นภารกิจของจังหวัด ยกระดับงานไมซ์ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ตั้ง
กลยุทธ์ที่ 3 : ยกระดับและพัฒนาปัจจัยสนับสนุน โดยยกระดับการให้บริการแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในทุกมิติ เช่น ให้ข้อมูลเชิงลึกและอํานวยความสะดวกสําหรับการประกอบธุรกิจไมซ์ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการไมซ์ปรับปรุงสถานที่ พัฒนาการให้บริการ และบูรณาการการส่งเสริมการตลาดในระดับนานาชาติ โดยดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ก้าวใหม่ระดับโลก ดึงงานใหญ่เข้าสู่ประเทศ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนต์ระดับโลกร่วมกับกระทรวงและจังหวัด อาทิ เอ็กซ์โป 2028 - ภูเก็ต ประเทศไทย (EXPO 2028 Phuket, Thailand) งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2026 และที่นครราชสีมา 2029 การประมูลสิทธิ์งานที่มีศักยภาพสูงโดยเฉพาะงานระดับโลก การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีของสมาคม และโครงการ One Ministry, One Convention การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการประมูลสิทธิ์งานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้เข้ามาจัดในประเทศไทย โดยมีงานเป้าหมาย อาทิ Annual Meetings of the World Bank Group and the International Monetary Fund 2025 ร่วมกับ กระทรวงการคลัง World Water Forum 2027 ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ World Energy Congress 2028 ร่วมกับกระทรวงพลังงาน
2. ก้าวแกร่งทั่วภูมิภาค ยกระดับงานสู่มาตรฐานสากล ดำเนินงานผ่านโครงการความร่วมมือ อาทิ โครงการงานแสดงสินค้าในประเทศ หรือ Empower Thailand Exhibition (EMTEX) โครงการประชุมส่งเสริมศักยภาพการเติบโตด้านการค้า-การลงทุนแนวระเบียงเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดการไมซ์ตามภูมิภาค และโครงการยกระดับ Flagship Event ขึ้นสู่ Global Ranking เช่น งานแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี งานไหมนานาชาติ ขอนแก่น รวมถึงพัฒนางานภายในท้องถิ่น (Homegrown) ทั่วประเทศ เพื่อสร้างมรดกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
3. ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยศักยภาพไมซ์ไทยทุกมิติ พัฒนาบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการ มุ่งพัฒนาบุคลากรไมซ์สร้างคนคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระดับพื้นที่และระดับนานาชาติ อาทิ การจัดทํามาตรฐาน ISO รับรองคุณวุฒิวิชาชีพไมซ์ใน 5 กลุ่มสาขาวิชาชีพ รวมถึงส่งเสริมการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มตามแนวทางนิวนอร์มัล และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี อำนวยความสะดวกอย่างครบวงจรให้กับนักเดินทางไมซ์ เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE One Stop Service) ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่านช่องทาง www.thaimiceoss.com พร้อมมุ่งเน้นการรณรงค์การบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ
4. ก้าวไกลด้วยแบรนด์ไมซ์ไทยในเวทีโลก มุ่งเน้นการบูรณาการการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ในยุคดิจิทัล-นิวนอร์มัล ส่งเสริมตัวแทนการตลาดทั้ง 7 ประเทศในการเป็นด่านหน้าที่จะสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทำกิจกรรมการสื่อสารและการตลาดเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสู่ความเป็นที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) ของนักเดินทางไมซ์ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการจัดงานได้ทันที ตลอดจนการดําเนินงานเชิงรุกผ่านแคมเปญการตลาดและการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้นักเดินทางไมซ์ต่างชาติเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายของการทํากิจกรรมไมซ์
นอกจากนี้ ทีเส็บยยังได้ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการจัดประชุม ร่วมจัดนิทรรศการ “ภูมิไทยเส้นทางทรงคุณค่าของอุตสาหกรรมไมซ์” เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องจุดกำเนิดของไมซ์ไทย สร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย โดยสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร